กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ


กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ

 

  1. วัตถุประสงค์

คณะกรรมการบริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ในระบบการบริหารงานและการปฏิบัติงานโดยมุ่งหมายให้การบริหารความเสี่ยงเป็นวัฒนธรรมของผู้ปฏิบัติงานทุกคน ตลอดจนให้คำปรึกษาและกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท และเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเหมาะสมและโปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้องค์กรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักและเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้บริษัทมีการดำเนินงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนั้นเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ในบริษัทมีแนวทางในการบริหารความเสี่ยงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และเห็นสมควรให้กำหนดกฎบัตรของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ดังนี้


  1. องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารความเสี่ย

                    คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของบริษัทต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

        1) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงประกอบด้วยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท โดยประกอบด้วยบุคคลอย่างน้อย 3 ท่าน

        2) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอาจประกอบด้วยกรรมการบริษัท ผู้บริหาร ผู้จัดการแผนก หรือบุคคลอื่นใดที่มีความเหมาะสมตามที่บริษัทกำหนด 

        3) คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้เลือกประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง

        4) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง แต่งตั้งเลขานุการ 1 ท่าน ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยอาจเป็นหัวหน้าสายงานสนับสนุนธุรกิจ หรือ  บุคคลที่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงเห็นสมควรซึ่งบุคคลดังกล่าวต้องสนับสนุนและคอยช่วยเหลือการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ตลอดจน การจัดเตรียมวาระการประชุม และบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

 

  1. คุณสมบัติของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

     คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1)  มีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสบการณ์ตรงในธุรกิจ เพื่อกำหนดนโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง

ให้ครอบคลุมทั้งองค์กร รวมทั้งกำกับดูแลให้มีระบบหรือกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเหมาะสม

2)  มีวุฒิภาวะ และความมั่นคง และกล้าแสดงความเห็นที่แตกต่าง

3)  สามารถอุทิศเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการบริหารความเสี่ยง 

 

  1. วาระการดำรงตำแหน่ง

1) กรรมการบริหารความเสี่ยงที่เป็นกรรมการบริษัท มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท โดยจะครบวาระตำแหน่งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นพร้อมกับกาครบวาระการเป็นกรรมการบริษัท (ในปีที่ครบกำหนด) ทั้งนี้ กรรมการบริหารความเสี่ยงที่พ้นวาระ อาจได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารความเสี่ยงอีกได้ 
2) กรรมการบริหารความเสี่ยงที่เป็นผู้บริหาร ผู้จัดการแผนก หรือบุคคลอื่นใดที่บริษัทแต่งตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่าที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร ผู้จัดการแผนก หรือตามเงื่อนไขอื่นใด เว้นแต่คณะกรรมการบริษัทจะมีมติเป็นอย่างอื่น
3) กรณีตำแหน่งกรรมการบริหารความเสี่ยงว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากออกตามวาระ ให้คณะกรรมการบริษัท แต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีจำนวนครบถ้วนตามที่กำหนด 

4) กรรมการบริหารความเสี่ยง ที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ จะต้องแจ้งและยื่นหนังสือลาออกต่อประธานกรรมการบริษัทล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน
5) กรรมการบริหารความเสี่ยง พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
5.1) ครบกำหนดตามวาระ
5.2) เสียชีวิต
5.3) ลาออก
5.4) คณะกรรมการบริษัทมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง

 

  1. ขอบเขต อำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1) กำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทซึ่งครอบคลุมถึงความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงด้านการเงิน ความเสี่ยงด้านการลงทุน และความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของกิจการ เป็นต้น เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริษัทให้ความเห็นชอบ โดยให้สอดคล้องและเป็นไปตามแนวทางการบริหารความเสี่ยงของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย

2) กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการบริหารความเสี่ยงของบริษัทให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้สามารถประเมิน ติดตาม และควบคุมความเสี่ยงแต่ละประเภทให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการบริหารและควบคุมความเสี่ยง

3) กำหนดแนวทาง เสนอแนะแนวนโยบาย/ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับจรรยาบรรณและจริยธรรมทางธุรกิจตามระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายจัดการ เพื่อกำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติขององค์กร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติขององค์กรที่ได้มาตรฐานเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และเพื่อให้บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย

4) ดูแลและติดตามการปฏิบัติตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงภายใต้แนวทางและนโยบายที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท 

5) กำกับดูแลให้คำปรึกษา ประเมินผล และทบทวนนโยบายและการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณธุรกิจ และนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อพัฒนาและยกระดับระบบการกำกับดูแลกิจการของบริษัทสู่มาตรฐานสากล

6) กำหนดเกณฑ์วัดความเสี่ยงและเพดานความเสี่ยงที่บริษัทจะยอมรับได้

7) กำหนดมาตรการที่จะใช้ในการจัดการความเสี่ยงให้เหมาะสมต่อสภาวการณ์

8) ประเมินความเสี่ยงในระดับองค์กร และกำหนดวิธีการบริหารความเสี่ยงนั้นให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้  รวมทั้งควบคุมดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงตามวิธีการที่กำหนดไว้

9) ทบทวนนโยบายการบริหารความเสี่ยงและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเพียงพอที่จะควบคุมความเสี่ยง

10) มีอำนาจในการเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือแต่งตั้งและกำหนดบทบาทที่ให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับมีหน้าที่บริหารความเสี่ยงตามความเหมาะสม และให้รายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้การบริหารความเสี่ยงบรรลุวัตถุประสงค์

11) รายงานผลเกี่ยวกับการบริหาร การดำเนินงาน สถานะความเสี่ยงของบริษัทและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ที่กำหนด

ต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ

12) จัดทำคู่มือการบริหารความเสี่ยง

13) ระบุความเสี่ยงด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งวิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้ม ซึ่งมีผลกระทบต่อบริษัท

14) จัดทำแผนงานเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยง

15) ประเมินผลและจัดทำรายงานการบริหารความเสี่ยง

16) จัดวางระบบบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการโดยเชื่อมโยงระบบสารสนเทศ

17) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร


  1. การประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

1) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง กำหนดจำนวนครั้งของการประชุมได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายได้ โดยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2) การประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงต้องมีกรรมการบริหารความเสี่ยงเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารความเสี่ยงทั้งหมด จึงจะครบเป็นองค์ประชุม

3) ให้ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม หากในการประชุมคราวใดประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการบริหารความเสี่ยงที่มาประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

4) ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ประธานที่ประชุมอาจเชิญผู้บริหารหรือพนักงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่เห็นสมควร มาร่วมประชุมให้ความเห็นหรือส่งเอกสารข้อมูลตามที่เห็นว่าเกี่ยวข้องหรือจำเป็น

5) กรรมการบริหารความเสี่ยงที่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาเรื่องใด มิให้ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้นๆ

6) กรรมการบริหารความเสี่ยง คนหนึ่งมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร จะถือตามเสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุม ในกรณีที่เสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียง เป็นเสียงชี้ขาด


     7.  การรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีหน้าที่ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจรายงานเรื่องที่สำคัญและมติที่ประชุมให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง