Warning: imagejpeg(): Unable to open './image/cache/catalog/News/2561/logo วันวิศกรรม-500x435.jpg' for writing: Permission denied in /var/www/html/system/library/image.php on line 45 นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น
 

นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น


   นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

บริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน)


นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “จรรยาบรรณธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน” โดยบริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จํากัด (มหาชน) (“บริษัท”) ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารงานและการดำเนินธุรกิจ ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและโปร่งใส จึงกำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันขึ้นเพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มบริษัท หลีกเลี่ยงการกระทำอันใดที่อาจเป็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อมแก่ตนเอง ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิดที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งบริษัทได้กำหนดโครงสร้างองค์กรให้มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ กระบวนการทำงาน และสายการบังคับบัญชาในแต่ละหน่วยงานให้มีความชัดเจน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจและมีความรัดกุมในการตรวจสอบระหว่างกันอย่างเหมาะสม


1. คำนิยาม

การทุจริตคอร์รัปชัน หรือ คอร์รัปชัน หมายถึง การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ หรือรับสินบน การนำเสนอ การให้คำมั่นว่าจะให้ การขอหรือเรียกร้องซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ซึ่งไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัท เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการให้ได้มาซึ่งธุรกิจ หรือเพื่อเอื้อประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่กรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้


2. หน้าที่และความรับผิดชอบ

    2.1 คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล ให้มีระบบสนับสนุนการต่อต้าน

การคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้พนักงานทุกคนในบริษัทได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญ

ของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

   2.2 คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่สอบทานการรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบการควบคุมภายใน ระบบการตรวจสอบภายใน และระบบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจน

รับเรื่องการแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน อันเกิดจากคนในองค์กรมีส่วนเกี่ยวข้อง พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการบริษัทร่วมกันพิจารณาลงโทษ หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว

  2.3 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่ในการจัดทำการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนจัดทำมาตรการและแนวทางป้องกันความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชัน 

เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

  2.4 คณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหาร มีหน้าที่ในการนำนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันไปปฏิบัติ กำกับดูแลให้คำปรึกษาและติดตามให้มีการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแล จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และกำหนดให้มีระบบสนับสนุนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และสื่อสารไปยังพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 

รวมถึงทบทวนความเหมาะสมของระบบ นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดของกฎหมาย


3. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

เพื่อป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชัน บริษัทจึงได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ 

เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มบริษัทยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานและปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด ห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

  3.1 ห้ามกระทำการใดที่เป็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยครอบคลุมธุรกิจในทุกประเทศและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  3.2 ห้ามกระทำการใดที่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ โดยการสัญญามอบให้ ให้คำมั่น เรียกร้อง หรือรับซึ่งเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้

  3.3 ไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตและคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ

  3.4 ผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณ ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ และอาจได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

  3.5 บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทหรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัท ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้

  3.6 บริษัทจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันมิให้มีการทุจริตคอร์รัปชันและเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและลดความเสี่ยงจากลักษณะธุรกิจ ระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมประกอบด้วยการควบคุมทั้งในด้านการป้องกัน (Preventive Control) และการตรวจสอบ (Detective Control) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการลดโอกาสและแรงจูงใจในการกระทำมิชอบและการทุจริตคอร์รัปชัน

ให้น้อยลงโดยมีหลักเกณฑ์การแบ่งแยกหน้าที่การทำงาน นอกจากนี้มีกระบวนการติดตามประเมินผลโดยผู้บริหารจะได้รับรายงาน และรับทราบถึงสาเหตุของข้อบกพร่องหรือสถานการณ์ที่ไม่ชอบมาพากลได้ทันท่วงที รวมทั้งสามารถปรับปรุงระบบในเชิงป้องกันได้อย่างเหมาะสมในการประเมินผลระบบการควบคุมภายในดังกล่าว ซึ่งฝ่ายตรวจสอบภายในถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกระบวนการ

  3.7 บริษัทจัดให้มีกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทต่อมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่การคัดเลือก การอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน และการเลื่อนตำแหน่ง

  3.8 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของกลุ่มบริษัท ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ในเรื่องดังต่อไปนี้

3.8.1 การให้ มอบหรือรับของกำนัล และการเลี้ยงรับรองจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นตามธรรมเนียมทางการค้าปกติ หรือประเพณีนิยมในมูลค่า

ที่เหมาะสม

3.8.2 การให้หรือรับเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส และถูกต้อง

ตามกฎหมาย โดยต้องมั่นใจว่าการให้หรือรับเงินบริจาค หรือเงินสนับสนุนดังกล่าวไม่ได้เป็นการอำพรางการติดสินบน

3.8.3 ในการดำเนินกิจการ การติดต่อ การเจรจา การประมูล และการดำเนินการอื่นๆ กับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส และถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มบริษัทจะต้องไม่ให้หรือรับสินบนในทุกขั้นตอนของการดำเนินกิจการ

  3.9 บริษัทจัดให้มีช่องทางในการสื่อสารที่ปลอดภัยในการขอคำแนะนำ แจ้งเบาะแส ข้อเสนอแนะ หรือร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน


4. การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

บริษัทจัดให้มีช่องทางในการสื่อสารที่ปลอดภัยในการขอคำแนะนำ แจ้งเบาะแส ข้อเสนอแนะ หรือร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย จรรยาบรรณทางธุรกิจ หรือพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตคอร์รัปชันของ

กรรมการบริษัท ผู้บริหาร หรือพนักงานของกลุ่มบริษัท โดยจัดช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียสามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนมายังบริษัทได้สะดวกและเหมาะสม โดยผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนจะต้องระบุรายละเอียดของเรื่องที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน พร้อมชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ ส่งมายังช่องทางการรับเรื่องตามที่บริษัทกำหนด

ช่องทางการรับแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชัน

- ประธานกรรมการตรวจสอบ e-mail thanetrk@gmail.com

- กรรมการผู้จัดการ         e-mail twijit@irvingthai.com

- เลขานุการบริษัท         e-mail cs@filtervision-thai.com

- Website ของบริษัท         www.filtervision.co.th

- ไปรษณีย์  ประธานกรรมการตรวจสอบ/ กรรมการผู้จัดการ/ 

เลขานุการบริษัท

บริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 95 ซอยรามอินทรา 117 ถนนรามอินทรา แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10510

การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนต้องเป็นความจริงและมีข้อมูลเพียงพอที่จะพิจารณาดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงต่อไปได้ ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการพิจารณาเบาะแสและข้อร้องเรียนจะขึ้นอยู่กับความสลับซับซ้อนของเรื่อง คำชี้แจงของผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน 


5. การคุ้มครองผู้ให้เบาะแสหรือข้อร้องเรียน

  5.1 บริษัทจะไม่กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อพนักงานหรือบุคคลที่ให้เบาะแสหรือข้อร้องเรียน ไม่ว่าจะโดยการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน หรือสถานที่ทำงาน สั่งพักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน และเลิกจ้าง หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

  5.2 บริษัทและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ต้องเก็บรักษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นความลับ จะเปิดเผยเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายของผู้ให้เบาะแสหรือข้อร้องเรียน รวมถึงผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง แหล่งที่มาของข้อมูล ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้อง

  5.3 บริษัทจะไม่เปิดเผยชื่อ ที่อยู่ หรือข้อมูลของผู้ให้เบาะแสหรือผู้ร้องเรียน หากไม่ได้รับความยินยอม 

เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด


6. ขั้นตอนการดำเนินการสืบสวน และบทลงโทษ

  6.1 เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส คณะกรรมการตรวจสอบจะมอบหมายให้ผู้ตรวจสอบภายใน หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เป็นผู้กลั่นกรองสืบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งผลการตรวจสอบเป็นระยะให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนได้ทราบ

  6.2 หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่ได้รับมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชันจริง บริษัทจะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหา และพิสูจน์ตนเองโดยการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติม ที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำอันทุจริตคอร์รัปชันตามที่ถูกกล่าวหา

  6.3 หากผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชันจริง ผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชันนั้นไม่ว่าจะเป็นกรรมการบริษัท ผู้บริหาร หรือพนักงาน ถือว่าเป็นการกระทำผิดนโยบายการต่อต้านการทุจริต

คอร์รัปชัน และจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัท โดยจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ และหากการกระทำทุจริตนั้นเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ผู้กระทำผิดนั้นอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย ทั้งนี้ โทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัท และคำตัดสินของคณะกรรมการตรวจสอบ ถือเป็นอันสิ้นสุด

บริษัทไม่มีนโยบายลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม


7. การอบรมและการสื่อสาร

  7.1 บริษัทจัดให้มีการสื่อสารและเผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน ให้บุคคลภายในบริษัทรับทราบ ผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น การปฐมนิเทศกรรมการบริษัทและพนักงานใหม่ การติดประกาศในบอร์ดประชาสัมพันธ์ อีเมล์ เว็บไซต์ของบริษัท 

เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนในบริษัทเข้าใจ เห็นชอบ และปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

  7.2 บริษัทสื่อสารและเผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนไปยังสาธารณชน บริษัทย่อย บริษัทร่วม ตลอดจนตัวแทนทางธุรกิจ คู่ค้าทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของบริษัท รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้าใจและสนับสนุนให้ยึดมั่นในมาตรฐานการรับผิดชอบต่อสังคม ในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเช่นเดียวกับบริษัท